หลังจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ (JWST) เผยภาพและข้อมูลชุดแรกไปเมื่อราว 10 วันก่อน ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติหลายคณะ ก็ได้ประกาศการค้นพบกาแล็กซีซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จักมา ซึ่งการค้นพบนี้มาจากภาพถ่ายห้วงอวกาศลึกภาพหนึ่งของ JWST นั่นเอง
กาแล็กซีหรือดาราจักรดังกล่าวมีชื่อว่า GLASS-z13 มีมวลมหาศาลเทียบเท่ากับดวงอาทิตย์หลายพันล้านดวง ทั้ง
มีอายุเก่าแก่อย่างน้อย 13,500 ล้านปี ซึ่งเท่ากับว่ามันถือกำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์บิ๊กแบงหรือจุดเริ่มต้นของจักรวาลเพียง 300 ล้านปีเท่านั้น
ส่วนกาแล็กซีเก่าแก่ที่สุดที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลเคยบันทึกภาพได้ก่อนหน้านี้ ได้แก่กาแล็กซี GN-z11 ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังเหตุการณ์บิ๊กแบง 400 ล้านปี ทำให้กาแล็กซีโบราณดังกล่าวถูก GLASS-z13 ล้มแชมป์ไปโดยปริยาย ด้วยอายุที่เก่าแก่กว่าถึง 100 ล้านปี
อย่างไรก็ตาม แม้แสงจากกาแล็กซีเก่าแก่ที่สุดจะใช้เวลาเดินทางถึง 13,500 ล้านปี กว่าจะมาถึงกล้องตรวจจับรังสีย่านใกล้อินฟราเรด (NIRCam) ของกล้อง JWST แต่ทว่าตำแหน่งที่อยู่จริงของกาแล็กซีดังกล่าวในปัจจุบัน จะอยู่ห่างออกไปถึง 33,000 ล้านปีแสง เนื่องจากการขยายตัวด้วยอัตราเร่งของเอกภพ
ดร. โรฮาน ไนดู ผู้นำทีมวิจัยจากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์ฮาร์วาร์ด-สมิธโซเนียน (CfA) ของสหรัฐฯ บอกว่า มีนักวิทยาศาสตร์หลายคณะจากทั่วโลกรวมทั้งทีมของเขา ส่งผลงานการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากกล้อง JWST เพื่อรอรับการพิจารณาลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่าง ๆ อยู่ในขณะนี้ ซึ่งมีหลายทีมได้ผลวิเคราะห์ออกมาตรงกันในเรื่องของกาแล็กซีอายุเก่าแก่ที่สุด ทำให้เขามีความมั่นใจว่าผลการศึกษาของตนมีความถูกต้องแม่นยำอย่างแน่นอน
ทีมของดร.ไนดู ค้นหาร่องรอยของกาแล็กซีอายุเก่าแก่ที่สุด โดยใช้วิธีมองหาอนุภาคของแสงหรือโฟตอนที่ถูกไฮโดรเจนในห้วงอวกาศดูดกลืน ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อโฟตอนอยู่ในย่านความยาวคลื่นอินฟราเรดระดับหนึ่ง โดยจุดที่เกิดการดูดกลืนโฟตอนจะสามารถนำมาคำนวณ เพื่อบอกถึงตำแหน่งที่อยู่ของกาแล็กซีดึกดำบรรพ์ได้
หลังจากการค้นพบครั้งนี้ ทีมผู้วิจัยยังมีแผนจะใช้งานกล้อง JWST อีกครั้ง โดยเตรียมจะใช้อุปกรณ์วิเคราะห์สารจากสเปกตรัมของแสง เพื่อให้ทราบถึงคุณสมบัติต่าง ๆ รวมทั้งอายุและตำแหน่งที่ตั้งที่แน่นอนของกาแล็กซี GLASS-z13 ต่อไป
ขอบคุณที่มา : www.bbc.com