คนเราทุกวันนี้ชอบอะไรที่มันเร็วๆ ชอบเวทมนต์ อยากได้ยาที่กินแล้วทำให้ผลร้ายจากการสูบบุหรี่มันหายไป ทำให้โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคหัวใจ โรคมะเร็งมันหายไป หรือกินยาแล้วทำให้น้ำหนักลดลงกลับมาหุ่นดี
ไม่ว่าเราจะทำอะไร ก่อนติดสินใจ เราควรหยุดคิดให้ดีๆ ก่อน คิดถึงผลข้างเคียงที่มันจะเกิดขึ้น ทั้งในแง่ร้ายและแง่ดี แล้วดูว่ามันคุ้มไหมถ้าเราจะทำ เราต้องแลกมันมา น้ำหนักที่ลดลงแลกกับโรคไต โรคตับ แลกกับการที่ต้องมารักษาตัวเองอีกหลายเดือน มันคุ้มไหม
หยุดคิดเรื่องการลดน้ำหนัก แล้วหันมามองภาพรวมที่ใหญ่กว่า ที่มันสำคัญมากกว่า นั่นคือการมีสุขภาพดี มันอาจจะไม่ได้เห็นผลทันตา ไม่เห็นผลใน 7 วัน แต่ในระยะยาวมันจะเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวม
กินอาหารที่มีประโยชน์
ลืมเรื่องแคลอรีไปเลย เพราะสิ่งสำคัญจริงๆ คือสารอาหารที่ร่างกายควรได้รับ ถึงแม้เราจะกินเยอะ แต่ถ้าอาหารที่เรากินเข้าไปมีแต่แป้งหรือไขมัน ร่างกายเราก็ยังไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลาที่ร่างกายเราไม่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอก็คือ มันจะทำให้เราต้องกินเพิ่มอีก แต่เราก็ยังกินแบบเดิม อาหารประเภทเดิมๆ เราก็จะได้รับแต่แคลอรีเพิ่ม แต่สารอาหารก็ยังไม่ได้ครบอยู่ดี
ไม่มีอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน คนที่แพ้ถั่วบางชนิดหรือแพ้โปรตีนในนมวัว ก็ไม่ควรกินอาหารพวกนี้ เพราะถึงแม้มันจะอุดมไปด้วยโปรตีน แต่ถ้ากินแล้วมันทำร้ายร่างกาย เราก็ไม่ควรกิน ลองหันไปมองทางเลือกอื่นๆ เช่นถั่วที่เรากินได้โดยที่ไม่แพ้หรือแพ้ไม่มาก ลองหันไปดื่มนมควายหรือนมแพะ
อาหารที่มีประโยชน์หลายอย่างที่บางคนกินไม่ได้ เช่น ตัวเราเองที่แพ้ไข่ขาว แพ้แป้งสาลี แพ้ถั่วแดง แพ้ถั่วขาว แพ้ยีสต์ แพ้มอลต์ แพ้แซลมอน แพ้อัลมอนด์ มีแต่ของดีๆ ทั้งนั้น เราก็ต้องพยายามฝืนและอดหรือกินในปริมาณน้อยๆ นานๆค่อยกินที
การกินผักผลไม้ให้มากขึ้น กินผักก่อนข้าว มันจะทำให้เราอิ่มเร็ว ทำให้เรากินข้าวได้น้อยลง กินปริมาณน้อยๆ แต่หลากหลายแบบชาว Okinawa
ปัญหาหรือความยากที่เราจะกินอาหารที่มีประโยชน์คือ คนส่วนใหญ่รอบตัวเราก็ยังกินอาหารแบบเดิมๆ มันคงยากที่เราจะสั่งสลัดมากินร่วมกับเพื่อน หรือยากที่จะชวนเพื่อนไปกินสลัด
Dr. Joel Furman ผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ คนเขียนหนังสือ Eat For Health, Eat to Live และ Super Immunity แนะนำให้เรากินอาหารที่เรียกว่า G-BOMBS (Greens Beans Onions Mushrooms Berries Seeds) ซึ่งประกอบไปด้วย ผักสีเขียว ถั่ว หัวหอมหรือกระเทียม เห็ด ผลไม้ตระกูลเบอรรี่ และเมล็ดธัญพืช
เราไม่ควรกินอาหารที่ให้แต่พลังงานอย่างเดียว แต่ควรกินอาหารที่ให้สารอาหารด้วย ถ้าเรากินอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอ เราก็ไม่ต้องการอาหารเพิ่มพลังงาน เราก็ไม่ต้องการเครื่องดื่มชูกำลัง ถ้าเรารู้สึกเหนื่อยไม่มีแรง อาจเป็นเพราะว่าเราต้องการพัก หรือเรานอนหลับพักผ่อนไม่พอ ไม่ใช่เพราะว่าเราต้องการอาหาร เราต้องฟังเสียงร่างกายตัวเอง ถ้าเรารู้สึกง่วง อาจเป็นเพราะว่าเราต้องขยับร่างกายบ้าง หรือร่างกายขาดน้ำ เราก็ต้องลุกเดิน ลุกออกไปจากโต๊ะ ออกไปดื่มน้ำ หรือหลังจากออกกำลังกายแล้วเรารู้สึกเหนื่อย ก็ไม่ใช่เพราะว่าเราต้องการอาหาร แต่เป็นเพราะว่าร่างกายเราต้องการพัก
เราควรจะรู้ตัวว่าเมื่อไหร่ที่เรากินอาหารแล้วมันทำให้เรามีแรง มีพลัง ทำให้เรามีสมาธิทำงานได้ดี หรือทำให้มีแรงออกกำลังกายได้ดี นั่นแหล่ะคืออาหารที่เหมาะสำหรับเรา อาหารที่เราควรกินบ่อยๆ
กินเมื่อตอนที่เรารู้สึกหิวจริงๆ ซึ่งในแต่ละวันเราอาจจะหิวไม่เป็นเวลา วันไหนที่เราออกกำลังกายใช้พลังงานเยอะ เราก็จะหิวเร็วหน่อย ฟังเสียงร่างกายตัวเอง กินให้พอดี เราอาจจะกินมากขึ้นได้ในวันที่เราออกกำลังกายหนัก
สิ่งสำคัญคือเปลี่ยนจากการคิดว่ากินยังไงให้น้ำหนักลด ไปเป็นกินให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ครบ อาหารที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ อาหารที่มันมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง
เมื่อเรากินอาหารที่มีประโยชน์ มันจะช่วยทำให้น้ำหนักลดลง ช่วยปรับระดับน้ำตาล ความดันและไขมัน ในเลือดให้เป็นปกติ เราจะรู้สึกดี แล้วมันจะทำให้เรามีแรงกระตุ้นให้กินอาหารแบบนี้ต่อไปได้
พยายามกินสลัดทุกวัน กินสลัดให้เป็นอาหารหลัก อย่างน้อยวันนึงกินสลัด 1 มื้อ มันอาจจะยากหน่อย เพราะคนส่วนใหญ่เค้าก็กินอาหารทั่วไป มันยากที่จะชวนเพื่อนไปกินสลัด อาจจะต้องอดทนกินคนเดียวไปก่อน รอจนกว่าคนส่วนใหญ่จะเปลี่ยนมากินแบบเดียวกับเรา
ออกกำลังกายเป็นประจำ
สิ่งสำคัญของการออกกำลังกายคือ เราควรทำเป็นประจำ สม่ำเสมอ สำหรับคนที่เริ่มวิ่ง เราก็ไม่ต้องไปสนใจคนอื่นๆ ไม่ต้องกลัวว่าคนอื่นจะมองเรายังไง เริ่มจากวิ่งช้าๆ วิ่งสลับเท้าไปเรื่อยๆ เริ่มจากวิ่งวันละ 5 นาที วิ่งจนร่างกายเราชินและหัวใจไม่เหนื่อยมาก ถ้าเราทำได้แล้วค่อยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ลองวิ่งให้ได้วันละ 10 นาที ถ้าเราวิ่ง 10 นาทีได้ ต่อไปเราก็จะวิ่งได้ 20 นาที ถ้าเราวิ่งได้ 60 นาที นั่นก็เกือบๆ 10 กิโลแล้ว แล้วถ้าเราวิ่ง 10 กิโลได้ ต่อไป 20 กิโล ก็ไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป สิ่งสำคัญคือค่อยๆ ไป ค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิด
การฝึกซ้อมอย่างหนักอาจจะช่วยให้นักกีฬาสร้างกำลังใจและความมั่นใจในขณะนั้นได้ แต่ว่าในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกีฬาหรือชีวิตด้านอื่นๆ การเพิ่มทีละนิดจะเกิดผลดีมากกว่า ไม่ต้องรีบไป แต่ค่อยๆ เพิ่มความเร็ว ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาของการฝึก นั่นคือสิ่งที่ผู้เขียนแนะนำไว้ในหนังสือ Fast-Track Triathlete
Patrick Sang โค้ชของ Eliud Kipchoge นักวิ่งมาราธอนเหรียญทองโอลิมปิก 2016 หนึ่งในสมาชิกของ Nike’s Breaking2 โค้ชบอกสิ่งสำคัญของความสำเร็จของการวิ่งคือ Slowly by Slowly รู้ว่าเมื่อไหร่ควรจะไปอย่างช้าๆ
ถ้าเราอยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม เราต้องค่อยๆ ปรับเปลี่ยนทีละนิด การที่เราทำสิ่งเล็กๆ ได้สำเร็จ มันจะเป็นแรงกระตุ้นให้เราทำต่อไป ถ้าเราทำต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะพบกว่าความเหนื่อยหอบที่เกิดขึ้นเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว มันหายไปไหนก็ไม่รู้ สิ่งที่เมื่อก่อนมันยากเหลือเกิน วันนี้มันกลายเป็นสิ่งที่ง่ายเสียแล้ว
สิ่งสำคัญคือความสม่ำเสมอและความต่อเนื่อง การสร้างความมั่นใจที่เรามั่นใจได้ว่ามันจะเกิดขึ้นได้จริงๆ คือ การค่อยๆ ปรับเปลี่ยน เพิ่มความยากขึ้นทีละนิด ค่อยๆ สร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง ให้หัวใจได้เรียนรู้วิธีเต้นในตอนที่เราออกกำลังกาย ค่อยๆ เพิ่มความอดทนให้มากขึ้นเรื่อยๆ
ไปอย่างช้าๆ จะทำให้เราไปได้ไกลมากขึ้น บางคนไม่มีเวลา ต้องรีบกลับบ้าน ก็จะต้องรีบวิ่ง เราจะทำแบบนั้นก็ได้ แต่เราต้องฝึกจากการวิ่งช้าๆ และวิ่งนานๆ ให้ได้ก่อน จากนั้นค่อยเพิ่มความเร็วให้มากขึ้น ฝึกเป็นประจำ เราก็จะทำได้เอง
ถ้าเราวิ่งไม่ได้ ก็เดินเอา แต่ต้องเดินนานหน่อยแค่นั้นเอง เดินชั่วโมงนึง ก็ได้ประโยชน์เทียบได้กับคนที่วิ่ง 20-30 นาที นอกจากนั้นการเดินยังทำให้เรามีเวลาคิดเรื่อยเปื่อย ไอเดียเกิดขึ้นจากการไม่ตั้งใจคิด แล้วถ้าเราเดินเป็นประจำ เดินไปนานๆ เราก็จะรักการเดิน วันไหนไม่ได้เดินอาจจะนอนหลับไม่สนิทก็เป็นได้ อาจจะเก็บไปเดินต่อในฝัน
ทำให้การออกกำลังกายหรือการออกไปวิ่งเป็นมากกว่าการลดน้ำหนัก บางคนเริ่มออกไปวิ่งเพราะต้องการลดน้ำหนัก แต่สุดท้ายพบว่า การวิ่งทำให้สมองปลอดโปร่ง ช่วยให้คิดไอเดียได้ดีมากขึ้น ช่วยให้ความเครียดจากการทำงานในแต่ละวันหายไป สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าการวิ่งมันช่วยให้เราคิดอะไรออก แต่การวิ่งมันช่วยให้เราเกิดความคิด เกิดคำถามที่บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องการคำตอบ
การอดอาหารเพื่อให้ร่างกายได้พักฟื้นฟูตัวเอง
การอดอาหารเป็นสิ่งที่เราทำกันมานานมากนับพันปี ไม่ว่าจะเป็นศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม หรือในศาสนาพุทธเอง ก็มีการอดอาหาร พระไม่ฉันมื้อเย็น การฝึกควบคุมตัวเอง การอดอาหารเป็นภูมิความรู้ที่มีมานานมาก การอดอาหารไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ทุกวันนี้ก่อนที่เราจะไปตรวจสุขภาพ เรายังต้องอดอาหารเลย
การอดอาหารมีหลายวิธี บางคนอดอาหารเฉพาะมื้อเย็น บางคนอดอาหารทั้งวัน บางคนอดอาหารโดยกินมื้อสุดท้ายตอนทุ่มนึงและปล่อยให้ร่างกายได้พักเป็นเวลา 15-18 ชั่วโมง แล้วค่อยกินมื้อต่อไปตอน 11 โมง ลองฝึกอดอาหารโดยวิธีที่เหมาะกับเราที่สุด ช่วงแรกๆ ในตอนที่ร่างกายยังไม่ชิน เราก็จะรู้สึกแปลกๆ รู้สึกหิว ความรู้สึกนั้นแหล่ะที่เราต้องการ
เคยจำได้หรือเปล่าว่าครั้งสุดท้ายที่เราปล่อยให้ตัวเองหิว ชีวิตในปัจจุบันเราแทบจะไม่เคยได้หิวเลย เพราะมีร้านค้าสะดวกซื้อที่เราหาของกินได้ตลอดเวลา ในหนังสือ แก่ช้าลงแน่ แค่ปล่อยให้ท้องหิว คนเขียนพูดถึงประโยชน์ของการอดอาหารที่ทำให้เราชะลอวัยได้
การอดอาหารต่างจากการไม่มีอาหารกิน การอดอาหารไม่ใช่การประท้วงใคร ไม่ใช่การปล่อยให้ตัวเองหิวตาย แต่เป็นการตัดสินใจด้วยความสมัครใจของเราที่ต้องการพักร่างกาย เราอยากเริ่มหรือเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ เราควบคุมตัวเราเองได้ว่าเราจะกินเมื่อไหร่
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง การอดอาหารแบบกำหนดช่วงเวลา ข้อมูลการอดอาหาร แนวทาง ประโยชน์ และเกิดอะไรขึ้นบ้างในระหว่างที่เราอดอาหาร และ ผลการศึกษาจาก Universidade de São Paulo ในปี 2014
การอดอาหารเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายๆ แต่ก็ต้องทำด้วยความเข้าใจ เข้าใจการทำงานของร่างกาย การตอบสนองเวลาที่ร่างกายหิว เราไม่ควรอดอาหารในช่วงเวลาที่เรามีสิ่งสำคัญที่ต้องทำ เช่นช่วงการสอบ หรือต้องเดินทางไปประชุมต่างจังหวัด แต่เราควรอดอาหารในช่วงเวลาที่เราสบายใจที่จะทำ ไม่ต้องมีเรื่องกังวล หรือเราไม่ควรอดอาหารในวันที่เรามีนัดเจอเพื่อนหรือครอบครัว ในวันที่เราควรจะต้องกินอาหารและใช้เวลาร่วมกัน
ถึงจะเป็นเรื่องง่ายแต่การอดอาหารก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำกันได้ทุกคนหรือทุกวัย เราต้องดูความเหมาะสมด้วย เด็กๆ ที่อยู่ในวัยกำลังเติบโตก็ไม่ควรอดอาหาร หรือคนป่วยที่ต้องฟื้นฟูร่างกายก็ไม่ควรอดอาหารเช่นกัน
การอดอาหารเป็นวิถีของการกินหรือการไม่กิน เป็นแนวทางการใช้ชีวิตที่เราเลือกเอง อย่ามองการอดอาหารเป็นเรื่องของการลดน้ำหนัก แต่ให้มองว่ามันเป็นการทำให้ร่างกายเราได้พักและฟื้นฟูตัวเอง ร่างกายเราไม่ใช่เครื่องจักรที่จะทำงานได้ตลอดเวลา เราต้องรู้จักหยุดพักบ้าง
:::ขอขอบคุณที่มา:::
:::ขอขอบคุณรูปภาพ:::
https://www.fitterminal.com/ ( รูปภาพใช้เป็นสื่อแสดงว่าเป็นการออกกำลังกาย )
==================================================