วิธีรักษาโรคฝีดาษลิง / ภาพจาก : www.bangkokhospital.com

Loading

พบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายที่ 2 ของไทยในกรุงเทพฯ  

ในตอนนี้นอกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว ตอนนี้คนไทยต้องดูแลตัวเองให้เข้มข้นมากกว่าเดิม เพราะก่อนหน้านี้พบผู้ป่วยฝีดาษลิงในไทยรายแรกเป็นชายไนจีเรียวัย 27 ปี (เดินทางมาท่องเที่ยวและพักอยู่ในจังหวัดภูเก็ต) และล่าสุด 28 ก.ค. 65 กระทรวงสาธารณสุขยืนยันพบผู้ป่วยฝีดาษลิงรายที่ 2 เป็นชายไทยวัย 47 ปี พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยมีประวัติมีเพศสัมพันธ์กับชาวต่างชาติแบบรักร่วมเพศ

โดยเริ่มแสดงอาการป่วยตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 65 จากนั้นเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต และถัดมา 1 สัปดาห์เริ่มมีผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ ลำตัว หน้า แขน และขา จึงเดินทางเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ขณะนี้ทำการพักรักษาตัวอยู่และทางโรงพยาบาลได้มีการติดตามผู้สัมผัสสูงมาตรวจและเฝ้าสังเกตอาการต่อให้ครบ 21 วัน ด้วยจำนวนการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นจึงทำให้หลายคนสงสัยว่าฝีดาษลิงคืออะไร ติดต่อทางไหน และมีวิธิรักษาโรคฝีดาษลิงหรือไม่ วันนี้ Promotions.co.th รวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจมาฝากทุกคน

ฝีดาษลิง โรคระบาดใหม่ในไทยที่ไม่ควรมองข้าม

ไข้ทรพิษลิง ฝีดาษวานร หรือโรคฝีดาษลิงหรือภาษาอังกฤษ Monkeypox เกิดจากไวรัส Othopoxvirus ที่อยู่ในตระกูลเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox) มักพบได้ในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระแต กระรอก กระต่าย ฯลฯ โดยพบในคนครั้งแรกเมื่อปี 1970 ประเทศคองโกที่ได้รับเชื้อมาโดยบังเอิญ จึงกลายเป็นที่มาของชื่อโรค ‘ฝีดาษลิง’ และส่วนใหญ่แล้วโรคฝีดาษลิงจะแพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ทำให้ขณะนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic disease) ไปแล้ว

วิธีรักษาโรคฝีดาษลิง / ภาพจาก : www.bangkokhospital.com

โรคฝีดาษลิงพบอัตราการเสียชีวิตประมาณ 1 – 10% ทั้งนี้สาเหตุของการเสียชีวิตขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ติดเชื้อ โดยสายพันธุ์หลักของโรคฝีดาษลิงแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์ ดังนี้

  1. สายพันธุ์แอฟริกากลาง (Congo Basin) มีความรุนแรงมาก พบอัตราการเสียชีวิตมากถึง 10%
  2. สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (West African) รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์แรก เป็นสายพันธุ์โรคฝีดาษลิงที่แพร่ระบาดในไทย ณ ตอนนี้ พบอัตราการเสียชีวิต 1%

การติดต่อของโรคฝีดาษลิงที่ต้องระวัง

การติดต่อจากสัตว์สู่คน

  • สัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อฝีดาษลิง
  • ถูกสัตว์ที่มีเชื้อกัด หรือข่วน
  • กินเนื้อสัตว์ที่ติดเชื้อ และไม่ผ่านการปรุงสุก

การติดต่อจากคนสู่คน

  • สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยผ่านทางสารคัดหลั่ง
  • สัมผัสผิวหนังที่เป็นตุ่ม
  • ลองอองฝอยจากการหายใจ

หลังได้รับเชื้อฝีดาษลิงจะมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 7 – 21 วัน (ช่วงเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงเริ่มแสดงอาการ) โดยอาการที่เด่นชัด คือ มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวโดยเฉพาะลำตัวและหลัง ต่อมน้ำเหลืองโต และมีผื่นตุ่มหนองขึ้น สำหรับอาการติดเชื้อแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะก่อนผื่นขึ้น ในช่วง 0 – 5 วัน

  • มีไข้
  • ปวดศีรษะมากผิดปกติ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต (เป็นลักษณะเด่นของโรคฝีดาษลิง)
  • ปวดหลัง
  • อ่อนเพลีย

ระยะออกผื่น อาจเริ่มได้ใน 1 – 3 วันหลังเป็นไข้

  • มีตุ่มขึ้นหนาแน่นบนใบหน้าและแขนขา มากกว่าช่วงลำตัว
  • ผื่นมีขนาดประมาณ 2 – 10 มิลลิเมตรในช่วง 2 – 4 สัปดาห์ต่อมา
  • ตุ่มสามารถขึ้นได้ทั่วทั้งร่างกาย เช่น ใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า เยื่อบุช่องปาก อวัยวะเพศ เยื่อบุตา และกระจกตาอาจได้รับผลกระทบ

ซึ่งลักษณะของผื่นของโรคฝีดาษลิงจะเริ่มต้นจากผื่นแดงทั่วไป จากนั้นค่อย ๆ กลายเป็นตุ่มน้ำใส เกิดตุ่มหนองขนาดเล็กและตุ่มหนองมีรอยบุ๋มอยู่ตรงกลาง เมื่อตุ่มหนองแตกและแห้งจะเป็นแผลสะเก็ดที่หลุดลอกได้บางส่วน ในระยะนี้ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการดีขึ้นและหมดระยะในการแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น ส่วนความอันตรายของภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวัง คือ หากเข้าตาอาจทำให้ตาอักเสบจนตามืดบอดได้ สมองอักเสบ หรือปอดอักเสบ เป็นต้น

ลักษณะตุ่มหนองฝีดาษลิง / ภาพจาก : www.infoquest.co.th

วิธีรักษาและวิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง

ปัจจุบันยังไม่มียามาตรฐานเฉพาะเจาะจงสำหรับการรักษาโรคฝีดาษลิง แต่ทั้งนี้มียามาใช้สำหรับการรักษาตามอาการเพื่อบรรเทาอาการ และควบคุมการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น Tecovirimat, Cidofovir และ Brincidofovir นอกจากนี้ยังมีการผลิตวัคซีนฝีดาษลิง ACAM2000, Jynneos และ Ankara ที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าการให้วัคซีนไข้ทรพิษ ในส่วนของวิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง มีดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วย สัตว์ที่เป็นพาหะโดยเฉพาะลิงและสัตว์ฟันแทะ
  2. หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อย ๆ หลังสัมผัสกับสัตว์หรือสิ่งของสาธารณะ
  3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่ง บาดแผล เลือด และน้ำเหลืองของสัตว์
  4. ออกห่างจากผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สงสัยเสี่ยงติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย
  5. ไม่นำมือไปสัมผัสผื่น ตุ่ม หนอง หรือสารคัดหลั่งของผู้เสี่ยงติดเชื้อ
  6. สวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่
  7. หากสงสัยว่าตัวเองหรือคนในบ้านติดเชื้อ ต้องทำการแยกผู้เสี่ยงติดเชื้อออกจากผู้อื่นเป็นเวลา 21 – 28 วัน จนกว่าแผลจะตกสะเก็ด
  8. รับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกเท่านั้น

ทั้งนี้ หากรู้ตัวว่าสัมผัสกับผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อตรวจหาเชื้อได้ นอกจากนี้ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ CDC แนะนำให้เข้ารับวัคซีนภายใน 4 วันหลังสัมผัสเพื่อป้องกันการติดโรค และฉีดวัคซีนภายใน 14 วันเพื่อลดความรุนแรงจากอาการป่วย

ขอบคุณข้อมูลจาก : PPTVHD36 / โรงพยาบาลศิครินทร์ / โรงพยาบาลวิชัยเวช