ลงทะเบียน ‘รถป้ายแดง’ แบบใหม่ มีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง?
รถยนต์คันใหม่ต้องมาคู่กับป้ายสีแดงเสมอ ซึ่งทะเบียนป้ายแดงที่ว่านี้เป็นเครื่องหมายพิเศษที่ทางกรมการขนส่งทางบกออกให้แก่ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ใช้สำหรับการติดรถยนต์คันใหม่ที่เพิ่งออกจากศูนย์บริการ โดยป้ายแดงเป็นเพียงป้ายที่ถูกกำหนดให้ใช้งาน ‘ชั่วคราว’ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ยืนยันว่ารถคันนี้สามารถวิ่งบนท้องถนนได้อย่างถูกกฎหมาย
ล่าสุด! ทางครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดเกณฑ์การออกใบอนุญาตขับรถป้ายแดง โดยผู้ใช้รถจำเป็นต้องลงทะเบียนรถป้ายแดงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดปัญหาเลี่ยงใช้ไม่จดทะเบียนด้วยการออกเป็นร่างกฎกระทรวงฉบับใหม่ ในส่วนของรายละเอียดจะมีอะไรเปลี่ยนไปจากเดิมบ้าง วันนี้ Promotions.co.th รวบรวมข้อมูลมาฝาก
เจ้าของรถต้องรู้! รถยนต์ป้ายแดงทุกคัน ต้องลงทะเบียนอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับการออกใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม (ป้ายแดง) รวมไปถึงกำหนดใบอนุญาตสมุดคู่มือประจำรถและลักษณะป้ายแดง นอกจากนี้ยังได้กำหนดอายุของใบอนุญาตและเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยผู้รับป้ายแดงต้องรายงานการใช้ป้ายแดงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเป็นการยืนยันตัวตน
สำหรับรายละเอียดการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวง สำหรับรถยนต์ป้ายแดงที่มีการปรับใหม่ ประกอบด้วย
- กำหนดอายุของใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถ และเครื่องหมายพิเศษ
โดยการมีปรับปรุงรายละเอียดต่าง ๆ ให้มีความชัดเจนมากขึ้น (แต่เดิมไม่ได้กำหนดไว้) ดังนี้ กำหนดให้ใบอนุญาต (ใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม) คู่มือประจำรถ (ที่นายทะเบียนออกให้แก่ผู้ได้รับอนุญาต) และเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดงที่นายทะเบียนออกแก่ผู้ได้รับใบอนุญาต) ให้มีอายุการใช้งาน 5 ปี นับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต
- กำหนดสถานที่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ชัดเจน (แต่เดิมไม่ได้กำหนดไว้)
โดยผู้ที่มีรถยนต์ไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม หากมีความประสงค์จะขับเองหรือให้ผู้อื่นขับ จำเป็นต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ แต่ทั้งนี้สามารถยื่นขอรับใบอนุญาตผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่กรมขนส่งทางบกกำหนดได้เช่นกัน
- การปรับปรุงใบอนุญาต
โดยกำหนดให้สมุดคู่มือประจำรถและลักษณะเครื่องหมายพิเศษมีความชัดเจนมากขึ้นรายละเอียด ดังนี้
- แบบใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม จะต้องมีการเพิ่มข้อมูลเลขบัตรประชาชน หรือเลขทะเบียนนิติบุคคลและอีเมลของผู้ได้ใบอนุญาต โดยต้องมีการระบุวันสิ้นสุดอายุใบอนุญาตเอาไว้อย่างชัดเจน และต้องมีตราสัญลักษณ์ของกรมการขนส่งทางบอกเป็นพื้นหลังใบอนุญาต
- สมุดคู่มือประจำรถต้องมีการเพิ่มคิวอาร์โค้ด เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่ากรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ออกสมุดคู่มือประจำรถนั้น ๆ
- กำหนดให้นายทะเบียนออกเครื่องหมายพิเศษหนึ่งคู่ โดยมีเลขเดียวกันกับสมุดคู่มือประจำรถ
- กำหนดเงื่อนไขการใช้และการรายงานข้อมูลการใช้เครื่องหมายพิเศษของผู้ได้รับใบอนุญาต
ดังนี้
- ติดเครื่องหมายพิเศษ (ป้ายแดง) ที่ด้านหน้ารถและท้ายรถด้านละ 1 แผ่นเพื่อให้มองเห็นชัดเจน
- จัดทำรายงานการใช้เครื่องหมายพิเศษในระบบอิเล็กทรอนิกส์ทุกครั้งที่มีการให้คนอื่นใช้รถ ตรงตามเงื่อนไขที่ทางกรมขนส่งทางบกกำหนด หากผู้รับใบอนุญาตไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว นายทะเบียนมีอำนาจพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตได้
- กำหนดอายุของใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถ และป้ายแดงให้ชัดเจน
แต่เดิมไม่ได้มีการกำหนดอายุข้อมูลดังกล่าว แต่ ณ ตอนนี้มีการกำหนดอายุทั้ง 3 เรื่องให้มีอายุ 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ออกใบอนุญาต แต่ในกรณีที่ใบอนุญาตเดิมหมดอายุให้ทำการยื่นคำขอพร้อมหลักฐานล่วงหน้าไม่เกิน 3 เดือนก่อนก่อนถึงวันสิ้นสุด
- กำหนดให้ใบอนุญาตสิ้นสุดอายุตามกรณี ดังต่อไปนี้
- ใบอนุญาตครบ 5 ปีนับตั้งแต่วันออกใบอนุญาต
- ผู้ได้รับอนุญาตเสียชีวิตหรือสิ้นสภาพนิติบุคคล
- ผู้ได้รับอนุญาตเลิกประกอบกิจการ
- กรมขนส่งทางบกเพิกถอนใบอนุญาต แต่ในกรณีที่ใบอนุญาตสิ้นสุด ผู้ได้รับอนุญาตจะต้องคืนใบอนุญาต เครื่องหมายพิเศษ และสมุดคู่มือประจำรถภายใน 15 วัน
- กำหนดเงื่อนไขการขอใบแทน ใบอนุญาต สมุดคู่มือ และเครื่องหมายพิเศษ
ในกรณีที่เกิดการสูญหายหรือชำรุดในสาระสำคัญ กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตยื่นคำต่อนายทะเบียนภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ทรายการสูญหายหรือชำรุด
- บทเฉพาะการ กำหนดให้บรรดาใบอนุญาต สมุดคู่มือประจำรถและเครื่องหมายที่จัดทำไว้แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงมีผลบังคับ ซึ่งนายทะเบียนจะออกให้หรือได้ออกให้แล้วแก่ผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้ได้ต่อไปไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ
ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อปรับปรุงกฎกระทรวงเดิมที่อาจททำให้เกิดปัญหา เช่น การไม่กำหนดอายุของใบอนุญาตขับรถยนต์หรือให้ผู้อื่นขับรถยนต์ที่มีไว้เพื่อขายหรือเพื่อซ่อม ทำให้ทางราชการไม่สามารถรู้ได้ว่า ณ ตอนนั้นผู้ได้รับใบอนุญาตยังประกอบการอยู่หรือไม่ รวมไปถึงอาจเป็นช่องทางการนำรถไปใช้ในทางที่ผิด เป็นต้น ดังนั้นผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด มิเช่นนั้นอาจมีโทษตามกฎหมายได้