Gundam มาทำความรู้จักกับหุ่นยนต์พันล้าน ก่อนจะมาเป็นขวัญใจมหาชนชาว Hobbyist
ปีนี้เป็นปีที่หลายล้านคนทั่วโลกอายุครบ 40 ปี เช่นเดียวกับ Gundam การ์ตูนหุ่นยนต์เรื่องดังและต้นทางที่ทำให้เกิด Gunpla ของหุ่นยนต์พลาสติกจากการ์ตูนเรื่องนี้แบบประกอบได้ ซึ่งถือเป็นอีกตลาดใหญ่ที่มีผู้ทุ่มเวลาให้งานอดิเรก (Hobbyist) มากมายให้ความสนใจ
ความน่าสนใจของ Gundamไม่หยุดอยู่แค่ความดังเท่านั้น เพราะนี่คือแบรนด์ของเล่นมูลค่าสูงสุดอันดับ 10 ของโลก และทำเงินให้ BandaiNamco บริษัทที่ถือครองลิขสิทธิ์มหาศาลในแต่ละปี
ไม่ใช่การ์ตูนหุ่นยนต์เรื่องแรก แต่คือเรื่องดังที่ต่อยอดทำเงินไม่รู้จบ
Gundamในรูปแบบการ์ตูนทางโทรทัศน์ ปรากฏขึ้นจอครั้งแรกในญี่ปุ่นเมื่อ 7 เมษายน 1979 ภายใต้ชื่อ Mobile Suit Gundamเป็นผลงานเรื่องที่ 2 ของ Sunrise Studio ค่ายการ์ตูนญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้น 7 ปีก่อนหน้านั้น จากอดีตทีมงานของ Mushi Production ค่ายการ์ตูนเก่าแก่ร่วมชาติที่มีผลงานสร้างชื่ออย่าง Astro Boy ซึ่งชาวไทยรู้จักกันในชื่อ “เจ้าหนูปรมาณู”
ทว่า กระแสตอบรับที่ไม่สู้ดีนักส่งผลต่อยอดขายหุ่นยนต์ของเล่นที่ผลิตโดย Clover บริษัทของเล่นดังในขณะนั้นซึ่งออกวางตลาดปี 1980 ต่ำเกินคาดและเงินทุนในการผลิต การประเดิมครั้งแรกของGundam จึงถูกตัดจบอย่างน่าเสียดาย
โยชิยูกิ โทมิโนะ ผู้กำกับ Gundam ภาคแรก
อย่างไรก็ตาม หลังทาง โยชิยูกิ โทมิโนะ ผู้กำกับ นำเรื่องทั้งหมดมาตัดต่อใหม่และเพิ่ม Footage ที่ถ่ายเก็บไว้เข้าไปเพื่อเปลี่ยนให้เป็นภาพยนตร์ 3 เรื่องที่ออกฉายในปี 1981 (2 ภาคแรก) และ 1982 (ภาคจบ) กระแสตอบรับกลับดีเกินคาด
ทั้ง 3 เรื่องทำรายได้รวมกันมากถึง 2,310 ล้านเยน (ราว 655 ล้านบาทตามค่าเงินปัจจุบัน) จน อาซาฮี ชิมบุน หนังสือพิมพ์ฉบับดังของญี่ปุ่นยกให้เป็นหนึ่งในจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการการ์ตูนญี่ปุ่น
Gundamยิ่งทวีความดัง หลัง BandaiNamco บริษัทของเล่นดังส่ง Gunpla ของ RX-78-2 หุ่นยนต์ฝ่ายธรรมะในเรื่อง ซึ่ง คูนิโอะ โอกาวาระ ผู้ออกแบบได้แรงบันดาลใจมาจากชุดมนุษย์อวกาศและซามูไร ออกสู่ตลาดในเวลาไล่เลี่ยกันถัดจากนั้นไม่นาน
คูนิโอะ โอกาวาระ ผู้ออกแบบ RX-78-2 หุ่นยนต์รุ่นใน Gundam
ผลจากยอดขายที่ดีเกินคาดและเพื่อช่วยให้การประสานงานต่างๆ ในการผลิตของเล่นจากการ์ตูนเรื่องนี้ในครั้งต่อๆไป ดำเนินไปอย่างราบรื่น BandaiNamco จึงเข้าซื้อกิจการของ Sunrise Studio ในปี 1994
Sunrise Studio
ถัดจากนั้น Sunrise Studio ก็เลื่อนขึ้นมาเป็นค่ายการ์ตูนหุ่นยนต์ที่เน้นความสมจริง (Real Robot) ชั้นนำของญี่ปุ่น ซึ่งเด่นเรื่องการออกแบบหุ่นยนต์และเนื้อหาเรื่องที่เข้มข้นไม่ต่างจากภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ชั้นดี โดยGundam เป็นเรื่องดังที่สุดของบริษัท
ปัจจุบัน Gundamอายุครบ 40 ปี มีภาคต่อทั้งแบบการ์ตูนทางโทรทัศน์และภาพยนตร์ออกมาแล้วกว่า 40 ภาค และถือเป็นสื่อบันเทิงแบบภาคต่อ (Franchise) ที่ทำเงินมากสุด อันดับ 15 ของโลก ด้วยตัวเลขรายได้จากทุกช่องทางนับตั้งแต่ปี 1979 มากถึง 26,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 8 แสนล้านบาท)
ความสำเร็จดังกล่าวเป็นการตอกย้ำด้วยว่านี่คือการ์ตูนหุ่นยนต์ญี่ปุ่นที่ดังและได้รับความนิยมสูงสุดของญี่ปุ่น แม้เป็นรุ่นน้องของเรื่องอื่นๆ อย่าง Tetsujin, Astro Boy และ Mazinger ก็ตาม
นอกจากนี้ Gundam ยังเป็นแบรนด์ของเล่นมูลค่ามากสุดอันดับ 10 ของโลก ด้วยตัวเลข 198 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 6,138 ล้านบาท) ซึ่งมากเป็นอันดับ 10 เพิ่มขึ้นจาก 182 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 5,642 ล้านบาท) เมื่อปี 2018
Gunpla
ในส่วนของ Gunpla ก็ครองตำแหน่งลูกรักของ BandaiNamco โดยแม้เป็นหนึ่งในของเล่นพลาสติกประเภทถอดประกอบเช่นเดียวกับเรือรบหรือเครื่องบินจำลอง แต่ก็สร้างตลาดของตัวเองขึ้นมา
และมีแฟนพันธ์ุแท้อยู่ทั่วโลก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเหล่า Hobbyist หลายรุ่นหลายวัย ที่อยากมี Gundamและหุ่นตัวอื่นๆ จากแต่ละภาคของการ์ตูนเรื่องนี้ที่ประกอบขึ้นจากมือตัวเอง
ระหว่างปี 2008-2018 Gunpla และสินค้าลิขสิทธิ์จากGundam ‘ประกอบร่าง’ ทำเงินให้ BandaiNamco ไปแล้ว 790,200 ล้านเยน (ราว 224,000 ล้านบาท) โดยล่าสุดเมื่อปี 2018 Gundamทำเงินให้ต้นสังกัด 68,300 ล้านเยน (ราว 19,376 ล้านบาท) รองแค่เพียง Dragon Ball เท่านั้น
ในอนาคต Gundamคงยากที่จะหลุดจากตำแหน่งลูกรักของ BandaiNamco เพราะการ์ตูนภาคใหม่ๆ ที่จะออกมายังคงทำหน้าที่คล้ายหนังโฆษณาเรียกน้ำย่อยแบบหลายตอนจบให้กับ Gunpla ที่จะตามออกมาอีกในไม่นาน เหมือนกับที่หนัง 3 ภาคแรกยุค 80 ทำไว้นั่นเอง
หุ่น Gundam รุ่น RX-78-2 ขนาดเท่าตัวจริง
จับตาดูความยิ่งใหญ่ของ Gundam หุ่นยักษ์สัญชาติญี่ปุ่น
Gundamกำลังก้าวสู่ปีที่ 41 อย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งทั้งภาคเอกชนและทางการญี่ปุ่นต่างพากันเกาะกระแส โดยฝ่ายปกครองในเมืองโยโกฮามาร่วมมือกับหลายบริษัทเดินหน้าสร้างและติดตั้งหุ่น Gundam รุ่น RX-78-2 สูง 18 เมตร
ขนาดตามจริงอิงจากการ์ตูน ในท่ากำลังเคลื่อนไหวขึ้นที่ท่าเรือยามาชิตะ เพื่อให้ทันฤดูร้อนปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกพอดี และเมื่อแล้วเสร็จจะตั้งตระหง่านรอคอยแฟนการ์ตูนเรื่องนี้และนักท่องเที่ยวอยู่ 1 ปีเต็ม
ด้านรัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมส่งหุ่น Gundamรุ่น RX-78-2 พร้อมกับ Zaku หุ่นยนต์รุ่นดังทางฝ่ายตัวร้ายของเรื่องเดียวกัน ที่มีขนาดราว 30 เซนติเมตร สู่อวกาศ แล้วส่งเป็นภาพกลับมายังโลกเพื่อให้กำลังใจนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่นในโอลิมปิก 2020/nikkei, endgadget, bandainamco, forbes, japantimes, scmp, brandfinance, gundaminfo, sunrise-inc, wikipedia