Loading

ยางแก้มเตี้ย VS ยางแก้มสูง ต่างกันอย่างไร? ควรใช้แบบไหน?

หลายคนอาจสงสัยว่า ระหว่างยางแก้มเตี้ยกับยางแก้มสูงส่งผลต่อสมรรถนะการขับขี่ต่างกันอย่างไร ซึ่งที่จริงแล้วทั้งยางแก้มเตี้ยและยางแก้มสูงต่างมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ดังนั้น การจะตัดสินใจว่าควรเลือกยางแบบไหนดี จึงควรดูจากการใช้งานเป็นสำคัญ เราได้แยกคุณสมบัติที่แตกต่างระหว่างยางแก้มสูงและยางแก้มเตี้ยให้ได้รู้กันในบทความนี้

​วิธีคำนวณความสูงของแก้มยางรถยนต์

เราสามารถคำนวณความสูงของแก้มยางได้ว่ายางรถยนต์เส้นไหน มีความสูงเท่าไร เป็นยางแก้มเตี้ยหรือยางแก้มสูง ได้จากการดูจากเปอร์เซ็นต์แก้มยางว่า ยางมีความสูงอยู่ที่เท่าไหร่เมื่อเทียบกับหน้ายาง โดยสามารถคิดได้ด้วยสูตร ความกว้างหน้ายาง X (ความสูงของแก้มยาง ÷ 100 ) = ความสูงจริงของแก้มยาง

ยกตัวอย่างเช่น ซีรีส์ยาง 225/55 R16 สามารถแปลรหัสได้ดังนี้

  • ตัวเลข 225 คือความกว้างหน้ายาง มีหน่วยเป็นมิลลิเมตร
  • ตัวเลข 55 คือความสูงของแก้มยาง มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์
  • R16 คือ ยางสำหรับล้อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 16 นิ้ว

จากสูตรการคำนวณความสูงจริงของแก้มยาง จึงคิดได้เป็น 225 X (55 ÷ 100 ) ฉะนั้น ความสูงจริงของแก้มยางเส้นนี้คือ 123.75 มิลลิเมตร หรือ 12.375 เซนติเมตร นั่นเอง

ขนาดของยางรถยนต์ที่นิยม แบ่งเป็น

  1. รถยนต์นั่งขนาดเล็ก ไม่เกิน 1,500 CC ขนาดยางที่นิยมได้แก่ 185/60 R15, 195/55 R15 ซึ่งมีขนาดความสูงจริงของแก้มยางอยู่ที่ประมาณ 10.7-11.1 เซนติเมตร
  2. รถยนต์นั่งขนาดกลาง ไม่เกิน 2,000 CC ขนาดยางที่นิยมได้แก่ 215/50 R17 ซึ่งมีขนาดความสูงจริงของแก้มยางอยู่ที่ประมาณ 10.7 เซนติเมตร
  3. รถยนต์กระบะ ดีเซล 2.5-3.0 ลิตร ขนาดยางที่นิยมได้แก่ 215/65 R16, 265/60 R18 ซึ่งมีขนาดความสูงจริงของแก้มยางอยู่ที่ประมาณ 13.9-15.9 เซนติเมตร

สำหรับผู้ที่ต้องการเลือกใช้ยางแก้มเตี้ยหรือยางแก้มสูงมากกว่าที่นิยมกัน ลองไปดูความแตกต่างระหว่างยางทั้ง 2 แบบ เพื่อประกอบการตัดสินใจกัน

​เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียระหว่างยางแก้มสูงและยางแก้มเตี้ย

เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของยางแก้มสูง

ข้อดี : มีความนุ่มนวลในขณะขับขี่มากกว่ายางแก้มเตี้ย ช่วยรองรับแรงกระแทกได้ดี ไม่ดีดกระด้าง รวมถึงป้องกันความเสี่ยงในการเกิดแรงกระแทกต่อกระทะล้อที่อาจทำให้เกิดการคดงอ

ข้อเสีย : ความสามารถในการยึดเกาะถนนทำได้ไม่ดีเท่ายางแก้มเตี้ย เวลาเข้าโค้งเสี่ยงต่อการลื่นไถลได้ง่าย เวลาควบคุมพวงมาลัยรู้สึกได้ว่าหนักและฝืน ขาดความคล่องตัวในการขับขี่

ขอบยางแก้มสูงเหมาะกับรถยนต์ประเภทใด

ยางแก้มสูงจึงเหมาะกับรถสำหรับบรรทุก หรือรถออฟโรด ที่ต้องใช้บรรทุกหนัก หรือขับขี่บนท้องถนนที่ไม่เรียบ ค่อนข้างมีความสมบุกสมบัน ซึ่งต้องการประสิทธิภาพในการรองรับน้ำหนักและแรงกระแทกที่ค่อนข้างสูง

​เปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียของยางแก้มเตี้ย

ข้อดี : สามารถยึดเกาะถนนได้ดี ใช้ความเร็วในการเข้าโค้งได้มากกว่ายางแก้มสูง ทั้งยังเข้าโค้งได้ง่ายกว่า

ข้อเสีย : รับแรงกระแทกได้น้อยกว่ายางแก้มสูง ขณะขับขี่จะมีความรู้สึกแข็งกระด้าง

ขอบยางแก้มเตี้ยเหมาะกับรถยนต์ประเภทใด 

ยางแก้มเตี้ยจึงเหมาะกับรถสปอร์ตที่ใช้ความเร็วสูง หรือรถที่ขับขี่ในถนนปกติ ซึ่งต้องการประสิทธิภาพในการยึดเกาะถนน และสมรรถนะในการขับขี่และเข้าโค้งได้อย่างคล่องตัว